แบบบ้านหน้าแคบ

แบบบ้านหน้าแคบ วิถีการสร้างบ้านในเขตชุมชนเมือง นิยมบ้านลักษณะหน้าแคบ แต่ลึก เนื่องด้วยราคาที่ดินในเมืองมีราคาสูงมาก การแบ่งซอยพื้นที่เล็ก ๆ จึงสามารถขายได้ง่ายกว่าที่ดินผืนใหญ่ ปัจจุบันเราจึงเห็นบ้านลักษณะทาวน์โฮม ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านเดี่ยวที่สร้างบนที่ดินแคบ ๆ จำนวนมาก ซึ่งหากย้อนดูสถาปัตยกรรมยุคเก่าจะเห็นได้ว่า บ้านลักษณะหน้าแคบแต่ลึกจะเป็นบ้านที่ถูกปิดทึบด้วยผนังทั้ง 2 ด้าน ส่งผลให้การใช้ชีวิตภายในบ้านรู้สึกอึดอัด คับแคบ จำเป็นต้องเปิดไฟตลอดทั้งวัน และยากยิ่งที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ
ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมาก ความต้องการดื่มด่ำกับธรรมชาติ สายลม แสงแดด มีมากขึ้น ประจวบกับเทคโนโลยี นวัตกรรมวัสดุ และงานสถาปัตยกรรมได้มีการพัฒนามากขึ้น รูปแบบบ้านหน้าแคบจึงได้มีการพัฒนาฟังก์ชันใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับบ้านหน้าแคบได้อย่างสมบูรณ์ จะมีแนวทางใดให้ประยุกต์ใช้กันบ้าง อ่านรายละเอียดกันได้เลยครับ
ออกแบบบ้านแนวตั้ง

บ้านหน้าแคบ ปล่อยให้ไม้เลื้อยบ้านเดี่ยวกระจายลมหายใจในเขตร้อน ซินจ่าวครับทุกคน เนื้อหานี้ทักทายกันเป็นภาษาเวียดนาม เพราะเราจะพาไปชมบ้านในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนามกันครับ อย่างที่เราทราบกันดีว่าที่นี่เริ่มมีบ้านทรงแคบยาวมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่มักพบเหมือน ๆ กันคือ
ปัญหาการไม่มีช่องว่างระหว่างกันตลอดความยาวของอาคาร ในขณะที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองที่หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ คุณภาพอากาศก็ลดลง และพื้นที่สีเขียวของเมืองค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่ทำให้เมืองขาดชีวิตชีวาห่างไกลธรรมชาติ ดังนั้นนอกจากสถาปนิกต้องแก้โจทย์เรื่องฟังก์ชันที่ทำให้รู้สึกอยู่สบายมีแสงและลมเพียงพอแล้ว ยังต้องเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวให้บ้านไม่ขาดต้นไม้ด้วย
จากโจทย์ที่ได้รับมาทั้งหมด จึงเป็นที่มาของบ้านที่สะดุดตาด้วยเส้นสายขอไม้เลื้อยที่ไต่ห้อยย้อยออกมาจากอาคาร เหมือนเป็นกระถางใบใหญ่ตั้งอยู่ท่ามกลางสิ่งก่อสร้างรายล้อม เมื่อเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยภายใน จะทำให้ลืมภาพของบ้านหลายชั้นที่ถูกปิดแบ่งด้้วยพื้นและเพดาน
เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความโปร่ง สว่าง ด้วยวิธีการจัดแปลนภายในที่ดึงแสงและลมเข้าสู่บ้านได้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น และเด็กๆ ก็มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการเติบโต เล่น และโต้ตอบกับธรรมชาติ แทนที่จะอาศัยอยู่อย่างทึบๆ ล้อมกรอบด้วยผนังทั้งสี่ด้าน
Folding House ได้รับแรงบันดาลใจจากการพับกระดาษและการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้งานของบ้านแบบหลวมๆ เพื่อสร้างพื้นที่ในระดับต่างๆ ที่มองเห็นทะลุขึ้นในแนวตั้งในบ้าน เมื่อเข้ามาสู่ภายในจะสะดุดตากับแผ่นผนังอิฐที่เรียงตัวกันแบบเว้นจังหวะให้เกิดช่องลม มีต้นไม้เลื้อยรากอากาศห้อยย้อยลงมาช่วยลดผลกระทบของรังสีดวงอาทิตย์จากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และลดควัน สิ่งสกปรก และเสียงรบกวนจากภายนอก

สถาปนิกได้พัฒนาความสัมพันธ์ในแนวตั้งระหว่างที่ว่างใจกลางบ้านเข้ากับสวนทั่วทั้งบ้าน ผ่านโถงบันไดเป็นช่องสูงขึ้นไปเชื่อมต่อทุกชั้น แล้วจัดคอร์ทยาร์ดเอาไว้ 3 จุดที่เรียงสลับกันอยู่ตามจุดต่างๆ สร้างมุมมองที่เขียวชอุ่มเหนือบันได
มีลำแสงธรรมชาติสวยๆ ส่องผ่าน skylight ลงมาตรงๆ ทำให้บ้านสว่างโดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ช่องว่างที่เชื่อมจากชั้นบนลงมาชั้นล่างนี้ยังทำให้การพาอากาศและการควบคุมสภาพอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกในครอบครัว ผู้คน และธรรมชาติอย่างกลมกลืนที่สุด
รายละเอียดทางสถาปัตยกรรม ยกความโดดเด่นให้ผนังอิฐที่เป็นฉากหลังของบ้าน และบันไดคอนกรีตที่มีลักษณะที่ชวนให้นึกถึงกระดาษพับไปพับมา นอกจากนี้วัสดุคอนกรีต และอิฐแบบชนบทผสมผสานกับวัสดุธรรมชาติบางอย่าง เช่น หิน ไม้ และต้นไม้ ช่วยสร้างบรรยากาศเขตร้อนให้กับตัวอาคาร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจสำหรับการเติบโตของต้นไม้ แสงธรรมชาติ และการระบายอากาศที่เติบโตอยู่ภายในอาคาร
การทำบันไดแบบหักกลับทำให้สามารถวางฟังก์ชันของบ้านเอาไว้ข้างๆ บันไดแบบบ้านเล่นระดับ โดยไม่มีผนังแบ่งกั้นเป็นห้อง ๆ จากบันไดที่เป็นแกนกลางจะเห็นห้องนั่งเล่น ครัว โต๊ะทานข้าว ที่มีการสลับเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่นจากระดับหนึ่งไปอีกระดับหนึ่ง พร้อมต้นไม้ที่ตามไปในทุกมุม ไม่ว่าจะเป็นสวนส่วนกลางที่เชื่อมห้องนั่งเล่นกับห้องครัว สวนใต้บันได สวนแขวน เหมือนบ้านเป็นกระถางใบใหญ่

หลายคนอาจสงสัยว่า บ้านหลายชั้นหลังนี้ทำไมดูสว่าง ไม่เหมือนตึกแถวที่คุ้นเคย ยิ่งในประเทศเวียดนามที่มีข้อกำหนดเรื่องช่องแสงด้านข้าง ทำให้แสงเข้าบ้านน้อยไปอีก คำตอบของบ้านนี้คือ ใช้แหล่งกำเนิดแสงสองแห่งจากด้านหน้าและจากห้องโถงใหญ่ตรงกลางบ้าน ช่วยให้ฟังก์ชั่นเสริม เช่น ทางเดิน บันได และห้องสุขาได้รับแสงธรรมชาติและการระบายอากาศ
ช่องว่างในบ้านช่วยให้อาคารสูงไม่รู้สึกทึบ อัดอัด และยังสามารถมองเห็นกันได้ง่าย ไม่ว่าจะอยู่ชั้นล่างหรือชั้นบนก็ไม่ขาดการติดต่อ ลืมบ้านตึกแบบเก่าที่เหมือนตัดขาดสมาชิกในบ้านให้มีโลกส่วนตัวแยกกันคนละชั้นไปได้เลย
ด้านบนสุดเป็นสวนเล็กๆ ที่เด็กๆ สามารถหล่อเลี้ยงและดูแลต้นไม้ด้วยมือของพวกเขาเอง ซึ่งทั้งครอบครัวและเพื่อน ๆ สามารถมารวมตัวกัน ผ่อนคลาย และจัดงานเลี้ยงอันแสนอบอุ่น เหมือนเป็นโอเอซีสส่วนตัวที่หาได้ยากในเขตเมืองใหญ่
บ้านหลายชั้นหน้าแคบแต่ลึก เหมาะจะจัดแปลนภายในแบบเล่นระดับ (Split Level) เพราะลักษณะของพื้นที่ใช้สอยภายในลดหลั่นกัน การเล่นระดับจะช่วยเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบ้านที่ค่อนข้างเล็ก เนื่องจากการเทพื้นจะมีการเหลื่อมของพื้นที่เป็นการแบ่งฟังก์ชันอย่างเป็นสัดส่วน โดยไม่มีพื้นเพดานหรือผนังปิดทึบจึงไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดสร้างพื้นที่ว่างใจกลางอาคารให้แสงและอากาศไหลเวียนภายใน บันไดที่เหมาะกับบ้านแบบนี้มักเป็นบันไดแบบหักกลับที่จะมีจุดพัก เป็นตัวเชื่อมระหว่างพื้นที่ชั้นย่อยๆ ที่ลดหลั่นกันอยู่ได้ดี

จุดสำคัญของความรู้สึกอึดอัดที่เกิดขึ้นในบ้านหน้าแคบ คือการถูกปิดทึบด้วยผนังทั้ง 2 ด้าน วิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ดีที่สุด คือการออกแบบบ้านให้สามารถรับแสงสว่างจากธรรมชาติได้ พร้อมกับออกแบบให้มีผนังเปิดโปร่ง
แต่การเปิดโปร่งแบบทั่วไปนั้นทำได้ยาก เนื่องด้วย พรบ.ควบคุมอาคารได้กำหนดระยะร่นอาคาร ซึ่งหากออกแบบให้เปิดโปร่ง จะต้องเว้นระยะร่นด้านดังกล่าว 2 เมตรขึ้นไป ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ ที่แคบอยู่แล้ว ยิ่งเหลือน้อยลงยิ่งกว่าเดิม ทั้ง 5 แนวทางนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาไปพร้อม ๆ กับการทำตามกฎหมายควบคุมอาคารครับ
1. ยอมสละพื้นที่ใช้สอยอีก 50 เซนติเมตร
ตามกฎหมายระยะร่นของไทย อนุญาตให้สามารถร่นระยะอาคารได้น้อยสุดที่ 50 เซนติเมตร โดยบริเวณดังกล่าวจะต้องออกแบบในลักษณะผนังทึบ กรณีออกแบบโปร่ง มีช่องแสง ช่องลม จำเป็นต้องร่นระยะอาคาร 2 เมตรขึ้นไป การออกแบบบ้านในที่ดินหน้าแคบส่วนใหญ่จึงออกแบบในลักษณะกล่องสี่เหลี่ยม ปิดทึบด้านข้างทั้งสองด้าน ซึ่งส่งผลให้ภายในบ้านมืด อับแสง
เมื่อวิเคราะห์จากข้อกฎหมายระยะร่นแล้ว การกำหนดระยะร่นจะอิงตามด้านขนายของขอบที่ดินในด้านนั้น ๆ แต่ไม่รวมถึงการเปิดช่องแสงในด้านตั้งฉาก ดังตัวอย่างในภาพประกอบนี้ ผังห้องที่ติดกำแพง จะต้นเว้นระยะร่นอย่างน้อย 50 เซ็นติเมตร แต่ผนังที่หันไปทางหน้าบ้านจะไม่ได้อิงจากขอบที่ดินด้านขวามือ จึงสามารถเปิดช่องแสงได้ โดยผู้ออกแบบอาจจะเว้นระยะร่นในบางส่วนเพิ่มขึ้นอีก 50 เซนติเมตร เพื่อเว้นพื้นที่ไว้สำหรับทำช่องแสง ช่องหน้าต่าง เพียงเท่านี้ก็สามารถเปิดรับแสงให้ห้องดังกล่าวได้แล้วครับ

2. สวนนอกบ้านพื้นที่ไม่พอ งั้นยกมาไว้ข้างในเลย
สำหรับที่ดินแคบ ๆ ในตัวเมือง หากต้องเว้นพื้นที่ไว้เพื่อการจัดสวน จะเหลือพื้นที่ให้สร้างบ้านลดน้อยลงมาก แต่นั่นอาจไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนัก เพราะจุดหลักของการสร้างบ้านในเมืองที่วุ่นวาย การมีสวนหน้าบ้านนั้นแทบจะไม่ได้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว และไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การออกแบบสวนไว้ในบ้าน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “คอร์ทในบ้าน” เป็นอีกแนวทางที่สามารถเติมเต็มธรรมชาติมาไว้ภายในบ้านได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว ปลอดภัย และบ้านยังได้รับแสงสว่างแม้ผนังบ้านจะปิดทึบก็ตาม
สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการจัดสวนภายในบ้าน คือการเลือกพันธุ์ไม้ที่ใบร่วงน้อย กินน้ำน้อย และต้องมั่นใจได้ว่า เราสามารถดูแลสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นภาระในการดูแลบ้านครับ หรือหากที่ดินของใคร มีลักษณะแคบ แต่ลึก การทำสวนส่วนตัวไว้หลังบ้าน นับเป็นอีกไอเดียที่เหมาะสำหรับบ้านหน้าแคบเลยครับ
3. เปิดผนังติดระยะร่น งั้นเปิดหลังคาแทนซิ
การรับแสงสว่างตามความเคยชินในการออกแบบบ้านทั่วไป นิยมรับผ่านทางช่องแสงผนังกระจก ช่องหน้าต่าง จนอาจลืมไปว่า ด้านบนหรือหลังคาบ้านก็สามารถรับแสงสว่างได้ การทำหลังคา Sky Light ในตำแหน่งที่ต้องการแสง จึงสามารถเปลี่ยนบ้านหน้าแคบของเราให้ดูโปร่งกว้างได้อย่างน่าอัศจรรย์
เทคนิคนี้สถาปนิกนิยมนำมาใช้ร่วมกับ โถงบันได ทางเดิน ห้องน้ำกึ่ง Outdoor หรือแม้แต่ภายในห้องนอนก็สามารถใช้เทคนิคเหล่านี้ได้ครับ จุดที่ต้องระวังเป็นอย่างมากสำหรับการทำหลังคา Sky Light ในประเทศไทย จำเป็นต้องเลือกกระจกที่สามารถป้องกันแสง UV และกันความร้อนได้ เพื่อให้บ้านได้รับแสงสว่าง แต่ไม่นำพาความร้อนครับ
4. โปร่ง แต่ก็ยังปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
สำหรับพื้นที่บางส่วนที่สามารถเว้นระยะร่นได้ เช่น หน้าบ้าน หลังบ้าน การออกแบบให้โปร่ง รับแสงตลอดทั้งวัน จำเป็นต้องออกแบบด้วยวัสดุกระจก แต่นั่นอาจส่งผลให้ความเป็นส่วนตัวหายไป และอาจส่งผลด้านการอยู่อาศัยที่ไม่ปลอดภัยนัก แต่หากจะทำเหล็กดัดก็อาจส่งผลให้บ้านสวยกลายเป็นบ้านโบราณไปในพริบตา
ปัญหาดังกล่าวแก้ไขได้ไม่ยากครับ เพียงออกแบบเปลือกอาคารภายนอกด้วย facade ที่สวยงาม หรือเลือกใช้ระแนง, บล็อกคอนกรีตที่แข็งแรงมาปิดกั้นความเป็นส่วนตัว พร้อมกับออกแบบประตูกระจกบานเลื่อน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนกระจกบานใหญ่ ในวันที่อากาศดี ๆ สามารถเปิดรับลมธรรมชาติได้อย่างผ่อนคลาย ในขณะเดียวกัน สามารถเปิดทิ้งไว้ได้ตลอดทั้งวัน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยครับ
5. เลือกชิดด้านใด ด้านหนึ่ง
บ้านเดี่ยวทั่วไปที่มีขนาดที่ดินประมาณ 15-20 เมตร นิยมวางผังบ้านไว้บริเวณกึ่งกลางที่ดิน พร้อมกับเว้นระยะร่นด้านละ 2 เมตร ตามกฎหมายกำหนด แต่สำหรับที่ดินหน้าแคบ การเว้นระยะร่นในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลให้ไม่เหลือพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ที่ดินขนาด 10 เมตร เมื่อเว้นระยะร่นแล้วจะเหลือพื้นที่สร้างอาคารเพียง 6 เมตรเท่านั้น
การเลือกเว้นด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สวน พื้นที่โปร่ง พร้อมกับออกแบบให้พื้นที่ฝั่งตรงข้ามเป็นลักษณะผนังทึบ เพื่อสามารถเว้นระยะร่นด้านข้างเพียง 50 เซนติเมตร วิธีการนี้จะช่วยทำให้เกิดพื้นที่ว่างนอกอาคารมากขึ้น ใช้งานจริงได้ดีกว่าเดิม
ส่วนภายในด้านผนังทึบ เหมาะกับออกแบบไว้เป็นพื้นที่บันได โดยบ้านหน้าแคบจะเหมาะกับการออกแบบบันไดตรง ขึ้นลงตามแนวลึก หรือใช้สำหรับห้องน้ำ ห้องเก็บของ ยิ่งหากผนังด้านดังกล่าวอยู่ฝั่งทิศตะวันตกหรือทิศใต้ จะยิ่งเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะจะช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ดีอีกด้วยครับ
สำหรับแนวคิดในการออกแบบบ้านหน้าแคบดังกล่าวนี้” ขอขอบคุณ สถาปนิกจาก บริษัท ปันแปลน จำกัด เป็นผู้ให้คำแนะนำแนวทางในการออกแบบ ผู้อ่านที่ต้องการสร้างบ้าน ออกแบบบ้านใหม่ตามโจทย์และงบประมาณ ออกแบบบ้านให้เหมาะสมกับที่ดินของเราเอง เหมาะสมทั้งด้านทิศทางลม แสงแดด สภาพภูมิอากาศและหลักฮวงจุ้ย ให้บ้านแลดูมีเอกลักษณ์ โดดเด่นลงตัวไม่ซ้ำใคร ปรึกษาสถาปนิกปันแปลนได้เลยครับ อ่านเพิ่มเติม